กำหนดการ

การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครบรอบ 15 ปี มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์
“ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืนในยุคดิจิทัล (New Normal for Sustainability in the Digital Era)”
วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2564
ณ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ถนนนครอินทร์ ตำบลบางขนุน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี


1. หลักการและเหตุผล

    มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ ได้รับการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 ซึ่งในปี พ.ศ.2564 เป็นปีที่ครบรอบการก่อตั้งมหาวิทยาลัย 15 ปี มหาวิทยาลัยจึงจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครบรอบ 15 ปี มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ “ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืนในยุคดิจิทัล” ซึ่งเป็นการจัดประชุมวิชาการที่ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ การประชุมวิชาการครั้งนี้เป็นการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติภายใต้หัวข้อ“ชีวิตวิถีใหม่สู่ความยั่งยืนในยุคดิจิทัล” (New Normal for Sustainability in the Digital Era) ในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 โดยเปิดรับบทความเพื่อการนำเสนอในรูปแบบการบรรยาย ณ สถานที่จัดงาน (Oral Presentation-Onsite) การนำเสนอแบบออนไลน์ (Oral Presentation-Online) ผ่าน Google Meet Application และนิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริม สนับสนุนให้คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานการวิจัยรวมทั้งผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี อันจะส่งผลให้เกิดการนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่นเพื่อก้าวสู่สังคมวิถีชีวิตใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งจากผลกระทบด้านสังคม การเมือง และวิกฤตการณ์ COVID-19

2. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อเป็นเวทีระดับชาติและนานาชาติในการนำเสนอบทความวิชาการ บทความวิจัย ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ของนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และนักเรียน
2.2 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการ ผลงานการวิจัย และภูมิปัญญาของท้องถิ่นสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศ
2.3 เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ ด้านการวิจัย การบริการวิชาการ และ กิจกรรมอื่น ๆ กับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
2.4 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์และผลงานวิชาการ

3. วิธีการดำเนินงาน

3.1 กลุ่มเป้าหมายและผู้เข้าร่วมโครงการ

3.1.1 ผู้เข้าร่วมการประชุมและนำเสนอผลงาน ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่สนใจจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 200 คน

3.1.2 ผู้เข้าร่วมการประชุมโดยไม่นำเสนอผลงาน ประกอบด้วย คณาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และนักเรียนจากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่สนใจจากภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 150 คน

 

3.2  รูปแบบการจัดประชุม

การจัดการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งนี้จัดการประชุมในรูปแบบ ดังนี้

          รูปแบบที่ 1 คือ การบรรยาย ณ สถานที่จัดงาน (Oral Presentation-Onsite)

รูปแบบที่ 2 คือ การบรรยายแบบออนไลน์ (Oral Presentation-Online) ผ่าน Google Meet Application

          รูปแบบที่ 3 คือ นิทรรศการแสดงผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ ณ สถานที่จัดงาน

 

3.3  ช่องทางการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน กำหนดให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน 4 ช่องทาง ได้แก่

ช่องทางที่ 1 เผยแพร่ผลงานรูปแบบ Proceedings ใน Flash Drive
มหาวิทยาลัยจะเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) โดยบันทึกใน Flash Drive และจะแจกในวันจัดประชุมวิชาการ ทั้งนี้ผู้นำเสนอผลงานจะต้องส่งบทความวิจัยและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ตามเวลาที่กำหนด โดยทุกบทความจะผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviewer) และผู้นำเสนอผลงานจะต้องปรับปรุงแก้ไขบทความให้ถูกต้องจึงจะได้รับการเผยแพร่

 

ช่องทางที่ 2 เผยแพร่ผลงานรูปแบบ Proceedings บนเว็บไซต์งานประชุมวิชาการ
มหาวิทยาลัยจะเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ในรายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings) บนเว็บไซต์งานประชุมวิชาการ ทั้งนี้ผู้นำเสนอผลงานจะต้องส่งบทความวิจัยและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ตามเวลาที่กำหนด โดยทุกบทความจะผ่านการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviewer) และผู้นำเสนอผลงานจะต้องปรับปรุงแก้ไขบทความให้ถูกต้องก่อนที่จะนำเสนอแบบบรรยาย และจะได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์งานประชุมวิชาการ

 

ช่องทางที่ 3 เผยแพร่ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ โดยเผยแพร่ในเอกสารรวมผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ ใน Flash Drive และบนเว็บไซต์งานประชุมวิชาการ
โดยผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานสร้างสรรค์ทุกผลงานต้องส่งรายละเอียดของผลงาน พร้อมรูปภาพประกอบตามรูปแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยทุกผลงานจะผ่านการประเมินคุณภาพและได้รับการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviewer)

 

ช่องทางที่ 4 เผยแพร่ผลงานโดยตีพิมพ์ในวารสาร
มหาวิทยาลัยจะเผยแพร่บทความวิจัยและบทความวิชาการฉบับสมบูรณ์ (Full Paper) ที่ได้รับคัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Peer Reviewer) ให้เป็นบทความที่มีคุณภาพในระดับดีเยี่ยม (80 คะแนนขึ้นไป) ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ และวารสารวิชาการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย โดยผู้เขียน (Author) จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์ตามที่วารสารเรียกเก็บด้วยตนเอง ทั้งนี้ผู้เขียนจะต้องปรับปรุงแก้ไขบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบข้อกำหนดของวารสารอย่างเคร่งครัดก่อนการตีพิมพ์ และให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้เขียน ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้เผยแพร่ในวารสารดังกล่าว มหาวิทยาลัยจะเผยแพร่เฉพาะบทคัดย่อภาษาไทยและบทคัดย่อภาษาอังกฤษ (abstract) ใน Flash Drive

 

3.4  วัน เวลา และสถานที่จัดประชุม
วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ณ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี

 

3.5  ผู้รับผิดชอบโครงการ
สำนักส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์